หลังจาก 4 ปีของการสั่งสมความรู้ในรั้วมหาวิทยาลัย ก็ถึงเวลาแล้ว ที่เหล่านักเรียนจบใหม่จะได้นำความรู้เหล่านั้นมาใช้ในผ่านการทำงานในชีวิตจริง โดยสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับใช้ยื่นสมัครงานสำหรับเด็กจบใหม่ก็คือเรซูเม่นักเรียนนั่นเอง จากข้อมูลผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในไตรมาส 3 ปีพ.ศ. 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ามีผู้ที่ว่างงานมากถึง 8.71 แสนคน โดยผู้ที่ว่างงานมากที่สุดคือ ผู้ที่สําเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจำนวน 2.30 แสนคน
ท่ามกลางสถิติจำนวนนักเรียนจบใหม่ที่ยังว่างงาน ประกอบกับงานที่มีรองรับจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่จากการระบาดของโควิด 19 การเขียนเรซูเม่ ให้น่าสนใจจึงมีความสำคัญมากสำหรับการหางานในฐานะนักเรียนจบใหม่ในยุคปัจจุบัน ในบทความนี้จะเปรียบเสมือนกับคู่มือการเขียนเรซูเม่ที่มีคุณภาพให้กับคุณ พร้อมทั้งยกตัวอย่างเรซูเม่นักเรียน เพื่อให้คุณนำไปใช้เป็นแนวทางในการทำเรซูเม่เองได้ด้วย
ตัวอย่างเรซูเม่นักเรียน
นักแปลไทย – อังกฤษ
414
สามแยกกล้วยน้ำไท
แขวงคลองเตย เขตคลองเตย
กรุงเทพฯ 10110
045-257-1189
mlalisa@gmail.com
Linkedin.com/in/lalisamaneejit
จุดมุ่งหมายในการทำงาน
ต้องการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษา 4 ปีในสาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีเกียรตินิยมอันดับ 2 เป็นเครื่องการันตี พร้อมประสบการณ์สั่งสมทักษะภาษาอังกฤษจากการเป็นติวเตอร์ภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนมอปลาย และประสบการณ์ฝึกงานด้านงานแปลกับสถาบันแปลภาษา BKK Translation มาสร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับสำนักพิมพ์ KOBO ในตำแหน่งนักแปลอังกฤษ – ไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำงานในสิ่งที่รัก เรียนรู้ และสั่งสมประสบการณ์เพื่อเติบโตไปพร้อมกับองค์กร
ประสบการณ์การทำงาน (ถ้ามี)
บริษัทแปลภาษา BKK Translation
นักศึกษาฝึกงานแปลอังกฤษ – ไทย
สิงหาคม – ตุลาคม 2564
- แปลภาษาอังกฤษเป็นไทยสำหรับบทความหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น บทความด้านสุขภาพ การเงิน นิยาย แนะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัท เป็นต้น
- ตรวจทานงานแปลของคนอื่นก่อนส่งงานให้กับลูกค้า
- เป็นล่ามนอกสถานที่สำหรับลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ เช่น ในงานประชุมหารือความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัท
สถาบัน Pipi Tutor
ติวเตอร์วิชาภาษาอังกฤษสำหรับเด็กม.ปลาย
มกราคม – กรกฎาคม 2564
- ติวหนังสือภาษาอังกฤษเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยสำหรับม.ปลายเป็นอาชีพเสริมระหว่างเรียน
- รวบรวมโจทย์ภาษาอังกฤษในข้อสอบจริง เพื่อจัดเตรียมการเรียนการสอนให้กับผู้เรียน
- สอนพาร์ท Reading โดยสอดแทรกเทคนิคการแปลและจับใจความสำคัญให้กับผู้เรียน
การศึกษา
ปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ เอกวิชาภาษาอังกฤษ
มหาวิทยาลัยศิลปากร
มีนาคม 2564
กิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติม
สมาชิกชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย
ติวเตอร์สอนภาษาของสถาบัน Pipi Tutor
เข้าค่ายภาษาอังกฤษกับสถาบัน English All Around
เข้าร่วมโครงการ Work and Travel ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ใบประกาศนียบัตร
TOEIC 700 คะแนน
เกียรตินิยมอันดับ 2
รางวัลชมเชย การแข่งขันประกวดภาษาอังกฤษของโครงการ Singha English Challenge
วิธีการเขียนเรซูเม่นักเรียน
หนึ่งในปัจจัยของเรซูเม่ที่ดีก็คือเรซูเม่ที่มีการจัดโครงสร้างไว้อย่างดี พร้อมข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพพิเศษในตัวคุณ เพื่อสร้างความประทับใจแรกให้กับ HR หากคุณมีทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่กลับไม่สามารถนำเสนอออกมาให้น่าติดตามได้ ก็อาจจะทำให้คุณต้องพลาดโอกาสสำคัญไปได้อย่างน่าเสียดาย
โครงสร้างเรซูเม่นักเรียนโดยทั่วไปสามารถจัดเรียงได้ตามหัวข้อ ดังต่อไปนี้:
- ประวัติส่วนตัวและข้อมูลสำหรับติดต่อ
- ตำแหน่งที่ต้องการสมัครงาน
- จุดมุ่งหมายในการทำงาน (Career objectives)
- ประสบการณ์การทำงานหรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
- การศึกษา
- ทักษะ
- ส่วนเพิ่มเติมอื่น ๆ (เช่น ภาษา, ใบประกาศนียบัตร, รางวัลที่ได้รับ และความสนใจส่วนตัวอื่น ๆ เป็นต้น)
เทคนิคการสร้างเรซูเม่ให้โดดเด่นไปจากผลงานของคนอื่น มีดังต่อไปนี้:
- อย่าใช้เรซูเม่แบบเดียวกันเพื่อสมัครงานหลายที่ แต่ให้ปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของตำแหน่งงาน และสไตล์ของแต่ละบริษัท
- อ่านข้อมูลเกี่ยวกับการรับสมัครงานให้ดี ว่ามีคุณสมบัติอะไรบ้างที่บริษัทต้องการ จากนั้นก็เขียนเรซูเม่ของคุณให้ตอบโจทย์
- ให้ความสนใจเกี่ยวกับการจัดรูปแบบของเรซูเม่ และเน้นให้เห็นตำแหน่งงานที่คุณต้องการสมัคร เพื่อให้ผู้พิจารณาสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
- แม้คุณจะยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการทำงานมากนัก ก็ยังสามารถบอกเล่าถึงประสบการณ์ที่สามารถเชื่อมโยงกับตำแหน่งงานที่คุณต้องการได้ เช่น เคยฝึกงานด้านนั้นมาก่อน
โครงสร้างของเรซูเม่นักเรียน
จากข้อมูลของ The Ladders พบว่า HR มักจะใช้เวลาในการพิจารณาเรซูเม่เพียงแค่ 7.4 วินาทีเท่านั้น การให้ความสำคัญของโครงสร้างเรซูเม่จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้ โดยต้องเป็นโครงสร้างที่สามารถทำให้ผู้พิจารณาสามารถอ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาในเรซูเม่ ของคุณได้ง่ายและสะดวกมากที่สุด
ข้อมูลทั้งหมดควรจัดไว้ให้อยู่ในหน้าเดียวกัน ใช้ขนาดฟอนต์ประมาณ 10-12 และเลือกใช้ฟอนต์ที่อ่านได้ง่าย ฟอนต์ที่แนะนำสำหรับเรซูเม่ภาษาอังกฤษ ได้แก่ Calibri, Times New Roman, Cambria และ Arial และ ฟอนต์แนะนำสำหรับเรซูเม่ภาษาไทย ได้แก่ TH Sarabun New
รูปแบบของเรซูเม่นักเรียน
รูปแบบของเรซูเม่ที่ดีที่สุดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบด้วยกัน ได้แก่
- รูปแบบตามลำดับเวลา เล่าถึงประสบการณ์ไล่ตามลำดับเวลา เพื่อแยกออกมาให้ผู้อ่านได้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า คุณเคยมีประสบการณ์การทำงานอะไรบ้างในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหมาะสำหรับคนที่มีประสบการณ์ด้านการทำงานมาก่อนเท่านั้น
- รูปแบบโชว์ทักษะส่วนตัว ที่เน้นแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งงานนั้น ๆ เนื่องจากส่วนใหญ่นักศึกษาจบใหม่ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์การทำงานมาก่อน โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษา วิชาที่เรียน และทักษะต่าง ๆ ที่ได้สั่งสมมาระหว่างเรียน
- รูปแบบผสม ทั้งโชว์ทักษะส่วนตัว และพูดถึงประสบการณ์การทำงานตามลำดับเวลาด้วย เพื่อแสดงให้ผู้อ่านได้เห็นว่าคุณมีทั้งผลการเรียนที่ดี มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน และยังมีประสบการณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งทำให้คุณแตกต่างจากคนอื่น และเป็นบุคคลที่น่าดึงให้มาร่วมงานในองค์กรด้วยกันได้
หัวเรื่องและข้อมูลการติดต่อ
ในส่วนของหัวเรื่องและข้อมูลการติดต่อต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดีอย่าให้ผิด เพื่อที่ผู้พิจารณา CV ของคุณจะสามารถติดต่อคุณได้ เมื่อต้องการขอสัมภาษณ์เพิ่มเติม โดยข้อมูลประกอบไปด้วย ชื่อจริง ตำแหน่งงานที่ต้องการสมัคร ข้อมูลการติดต่อ รวมทั้งลิงก์เว็บไซต์ส่วนตัว เว็บบล็อก ลิงก์เว็บที่ใช้แสดงผลงาน หรือลิงก์โปร์ไฟล์ LinkedIn profile
หัวเรื่องที่ดี
นักแปลไทย – อังกฤษ
414
สามแยกกล้วยน้ำไท
แขวงคลองเตย เขตคลองเตย
กรุงเทพฯ 10110
045-257-1189
mlalisa@gmail.com
Linkedin.com/in/lalisamaneejit
หัวเรื่องที่ไม่ดี
414
สามแยกกล้วยน้ำไท
แขวงคลองเตย เขตคลองเตย
กรุงเทพมหานคร 10110
วันเกิด 19 มกราคม 2540
เบอร์โทร 045-257-1189
mlalisa@gmail.com
Linkedin.com/in/lalisamaneejit
คุณสามารถใส่หรือไม่ใส่รูปภาพลงบนเรซูเม่ของคุณก็ได้ แต่หากต้องการใส่รูปภาพ ให้เลือกใช้รูปภาพที่เรียบร้อย แต่งกายสุภาพ โดยอาจจะเป็นทางการมากหรือน้อย ก็ให้เหมาะสมกับประเภทของงานที่คุณเลือกสมัคร
ข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ในเรซูเม่ของนักศึกษาจบใหม่
ในพาร์ทของประสบการณ์การทำงาน ให้เขียนไล่ไปตั้งแต่ชื่อของบริษัท ตำแหน่งงาน และระยะเวลาทำงาน จากนั้นก็ใช้เครื่องหมายนำสายตา นการเขียนถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อตำแหน่งงานนั้น ๆ ออกมาเป็นข้อ ๆ โดยประสบการณ์การทำงานในที่นี้อาจหมายถึงงานพาร์ททามที่ต้องใช้ทักษะที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่คุณต้องการสมัครด้วย ดังตัวอย่างดังต่อไปนี้
ตัวอย่างประสบการณ์ทำงานของนักศึกษาจบใหม่ที่ผ่านการฝึกงานมาแล้ว
นักศึกษาฝึกงานแปลอังกฤษ – ไทย
สิงหาคม – ตุลาคม 2564
- แปลภาษาอังกฤษเป็นไทยสำหรับบทความหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น บทความด้านสุขภาพ การเงิน นิยาย แนะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัท เป็นต้น
- ตรวจทานงานแปลของคนอื่นก่อนส่งงานให้กับลูกค้า
- เป็นล่ามนอกสถานที่สำหรับลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ เช่น ในงานประชุมหารือความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัท
ถ้าไม่มีประสบการณ์
หากคุณยังไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานมาก่อนก็ไม่เป็นไร และถือว่าเป็นเรื่องปกติมากสำหรับนักศึกษาจบใหม่ ก็ให้หันมาพูดถึงทักษะที่คุณมี รวมทั้งคุณสมบัติด้านการศึกษาของคุณ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่คุณได้เข้าร่วมและได้ฝึกทักษะที่เกี่ยวข้อง งานประกวดต่าง ๆ ที่คุณได้รับรางวัล ทุนแลกเปลี่ยนที่คุณเคยได้รับเลือก โดยอาจจะเปลี่ยนจากหัวข้อประสบการณ์การทำงานเป็นประสบการณ์ที่ผ่านมาหรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องแทน
การศึกษา
ให้เริ่มเขียนจากชื่อมหาวิทยาลัย ระดับการศึกษา และระยะเวลาที่สำเร็จการศึกษา และถ้าคุณได้รับคะแนนเกียรตินิยม หรือมีคะแนนเกรดที่ค่อนข้างดี ก็สามารถใส่ข้อมูลตรงนี้เพิ่มเข้าไปเพื่อดึงดูดความสนใจของ HR ได้ด้วย
ตัวอย่างการเขียนหัวข้อการศึกษาในเรซูเม่
ปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ เอกวิชาภาษาอังกฤษ
มหาวิทยาลัยศิลปากร
มีนาคม 2564
ทักษะสำหรับเรซูเม่นักเรียน
ทักษะอื่น ๆ ในการทำงานก็เป็นข้อมูลที่ผู้จ้างงานต้องการด้วย ซึ่งหมายถึงทั้งทักษะเฉพาะทางที่จำเป็นสำหรับวิชาชีพ (hard skills) และทักษะในการเข้าสังคม (soft skills) การใส่ข้อมูลตรงนี้เพิ่มเข้าไปจะทำให้ผู้ที่พิจารณาเรซูเม่สามารถทำความรู้จักและเข้าใจคุณมากขึ้นผ่านข้อมูลโดยรวมของการศึกษา ประสบการณ์ และทักษะการทำงาน
มาดูกันว่ามีทักษะอะไรบ้างที่คุณสามารถนำไปใช้ใส่ไว้ในเรซูเม่ของคุณได้
ทักษะเฉพาะทาง
- พูดได้สองภาษาหรือหลายภาษา
- แปลภาษา
- เป็นล่าม
- พิสูจน์อักษร
- เป็นพิธีกร
- ผลิตวิดีโอ
- ถ่ายภาพ
- ทำกราฟิก
ทักษะการเข้าสังคม
- พร้อมที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
- ตรงต่อเวลา
- มีทักษะในการเป็นผู้นำ
- ใส่ใจรายละเอียด
- จัดการเวลาได้ดี
- มีความคิดสร้างสรรค์
- มีความรับผิดชอบสูง
- วางแผนและจัดการงานที่ได้รับมอบหมายได้ดี
การเขียนแนะนำตัวเองโดยสรุป
อาจจะพูดถึงคุณสมบัติด้านการศึกษาของคุณ ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทักษะต่าง ๆ ที่คุณมีไว้แบบสรุปสั้น ๆ และตบท้ายว่าคุณจะสามารถสร้างประโยชน์และคุณค่าอะไรให้กับบริษัทได้บ้าง หรืออาจจะเรียกส่วนนี้อีกชื่อหนึ่งได้ว่าจุดมุ่งหมายในการทำงาน (Career Objective)
ส่วนเพิ่มเติม
ส่วนเพิ่มเติมเป็นส่วนที่สามารถสร้างความแตกต่างระหว่างคุณและผู้เข้าสมัครรายอื่น ๆ ได้ เป็นส่วนที่คุณสามารถใส่ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่คุณเคยได้ทำตอนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย หรือประกาศนียบัตรที่คุณเคยได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมหรือการประกวดต่าง ๆ ที่สร้างคุณให้เป็นคุณในทุกวันนี้
ภาษา
ภาษาเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการทำงานในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในสายงานใดก็ตาม และถ้าคุณมีทักษะด้านภาษา ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการทำงานของคุณได้มากขึ้น คุณมีคะแนนทดสอบภาษาอื่น ๆ ด้วยก็สามารถใส่เพิ่มเข้ามาเพื่อเพิ่มคะแนนในสายตา HR ได้ด้วย เช่น TOEFL หรือ IELTS สำหรับภาษาอังกฤษหรือ JLPT สำหรับภาษาญี่ปุ่น
เคล็ดลับในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเรซูเม่
หลังจากที่คุณได้รวบรวมข้อมูลสำหรับเรียบเรียงในเรซูเม่ตามขั้นตอนในข้างต้นแล้ว ก็ยังมีเช็คลิสต์อีกเล็กน้อยที่คุณสามารถตรวจสอบอีกครั้ง แล้วนำไปปรับใช้เพื่อให้เรซูเม่ของคุณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังรายการต่อไปนี้
- เลือกใช้รูปแบบของเรซูเม่ที่เหมาะสมกับงานของคุณ รูปแบบที่เป็นทางการสำหรับงานของผู้เชี่ยวชาญ ส่วนงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ก็สามารถทำเรซูเม่ที่มีสีสันและน่าสนใจมากขึ้นได้
- เน้นย้ำถึงทักษะและประสบการณ์ที่เหมาะสำหรับตำแหน่งงานนั้น ๆ โดยเน้นแค่ข้อมูลที่มีความสำคัญและแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตัวคุณได้จริง ๆ
- ปรับเปลี่ยนชื่อตำแหน่งงานซึ่งเป็นหัวเรื่อง ให้เหมาะสมตามตำแหน่งงานที่คุณต้องการสมัคร
- อ่านทวนเรซูเม่ทั้งหมดให้ดีก่อนส่ง เพื่อให้แน่ใจได้ว่าข้อมูลที่สำคัญนั้นครบถ้วน และไม่มีการสะกดผิดเกิดขึ้น
สรุปประเด็นสำคัญในการเขียนเรซูเม่นักเรียน
ได้เรียนรู้กันอย่างครอบคลุมแล้วว่าส่วนประกอบต่าง ๆ ของเรซูเม่นั้นมีอะไรบ้าง และเนื้อหาในแต่ละส่วนควรจะเขียนออกมาเป็นอย่างไร ส่วนประเด็นสำคัญในการเขียนเรซูเม่มีดังต่อไปนี้:
- เรซูเม่ควรประกอบไปด้วยข้อมูลประวัติส่วนตัวและข้อมูลสำหรับติดต่อ, ตำแหน่งที่ต้องการสมัครงาน, จุดมุ่งหมายในการทำงาน (Career objectives), ประสบการณ์ในการทำงานหรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ, การศึกษา, ทักษะ และส่วนเพิ่มเติมอื่น ๆ
- ใส่จุดมุ่งหมายในการทำงาน โดยเป็นการแนะนำตัวโดยสรุปว่าคุณจบการศึกษามาจากที่ไหน มีประสบการณ์และทักษะอะไรที่เหมาะสมสำหรับการทำงานในตำแหน่งงานที่คุณสมัครบ้าง
- ใส่ประสบการณ์ในการทำงาน หากคุณเคยผ่านการฝึกงาน แต่ถ้าไม่มีประสบการณ์ให้เน้นเขียนถึงประสบการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากกิจกรรมที่คุณเคยทำในระหว่างเรียน หรือทักษะในการทำงานที่คุณมีแทน
- ใส่ข้อมูลด้านการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท (ถ้ามี) และละในส่วนของระดับอุดมศึกษาไว้ หรือจะเน้นแค่การศึกษาในระดับปริญญาตรีก็ได้ เพื่อไม่ให้เรซูเม่เต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่จำเป็นมากจนเกินไป
- ใส่ทักษะสำหรับการทำงาน (hard skill) และการเข้าสังคม (soft skill) ที่คุณมี
- ใส่ส่วนเพิ่มเติมอื่น ๆ เพื่อให้เรซูเม่ของคุณมีความโดดเด่นจากเรซูเม่ของผู้สมัครรายอื่น ๆ เช่น ภาษา และกิจกรรมอื่น ๆ เป็นต้น
เขียน Cover letter ที่เหมาะกับเรซูเม่ของคุณ
นอกจากเรซูเม่ที่คุณต้องการจัดเตรียมแล้ว บางบริษัทก็ต้องการเป็น Cover letter สำหรับใช้ในการสมัครงานเพิ่มเติมด้วย จากข้อมูลของ Keydifference เรซูเม่จะอธิบายเกี่ยวกับการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน และความสามารถโดยสังเขป ประกอบไปด้วย 1-2 หน้า ในขณะที่ CV สามารถมีความยาวได้มากถึง 2-20 หน้า ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลคุณสมบัติ ประสบการณ์ ทักษะ ความสามารถ และความสำเร็จ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ลงรายละเอียดมากกว่า
เรซูเม่มักถูกนำไปใช้ในการสมัครเพื่อขอฝึกงานหรือทำงานกับบริษัทโดยทั่วไป ในขณะที่ CV มักถูกนำไปใช้ในการสมัครงานในตำแหน่งเชิงวิชาการหรือเป็นนักวิจัยมากกว่า ซึ่งจะเน้นไปที่ทักษะเฉพาะสำหรับตำแหน่งงานเชิงวิชาการหรือต้องการความเชี่ยวชาญพิเศษ โดยส่วนใหญ่แล้วเรซูเม่ นักเรียนคือเอกสารที่ได้รับความนิยมในการยื่นเพื่อสมัครงานแรกมากกว่า ซึ่งคุณสามารถดูตัวอย่างเรซูเม่ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ แต่ถ้างานที่คุณต้องการสมัครต้องการรายละเอียดที่มากกว่า ก็สามารถเขียน Cover letter เตรียมไว้สำหรับยื่น ซึ่งคุณสามารถดูตัวอย่าง Cover letter ที่น่าสนใจได้เช่นกัน
คำถามที่พบบ่อย
HR อยากเห็นอะไรในเรซูเม่ของผู้สมัครมากที่สุด?
- ประสิทธิภาพในการทำงาน: มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติในการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง
- ประสบการณ์การทำงาน: เพื่อประเมินว่าจะสามารถทำงานตามความคาดหวังของบริษัทได้ไหม
- เป้าหมายในอนาคต: มีเป้าหมายในอนาคตเป็นอย่างไร และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้อย่างไรบ้าง
ข้อควรระวังในการเขียนเรซูเม่นักเรียน มีอะไรบ้าง?
- ข้อมูลส่วนตัวที่เกินความจำเป็น เช่น เบอร์ติดต่อหลายเบอร์ หรือที่อยู่ที่ยาวจนเกินไป
- ชื่ออีเมลนักเรียนที่มักจะไม่เป็นทางการ
- ใส่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงลงบนเรซูเม่