การอ้างอิงใน CV หรือ Reference | คุณควรมีหรือไม่ และควรเขียนแบบไหน พร้อมตัวอย่าง และเทมเพลต PDF

การอ้างอิงเกี่ยวกับ CV

Create your resume in minutes

หากพูดถึงการอ้างอิงใน CV หรือ CV Reference แล้ว หลายๆ คนอาจจะยังไม่แน่ใจว่า ที่จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่ มันสำคัญอย่างไร และควรอยู่ตรงไหนใน CV ของคุณ ซึ่งถ้าคุณยังคงมีคำถามเหล่านี้อยู่ล่ะก็ เราบอกได้เลยว่าคุณไม่ได้ไม่รู้อยู่ตัวคนเดียว

💡 นิยาม: การอ้างอิงใน CV คือ การมอบชื่อและข้อมูลของบุคคลที่รู้จักคุณ หรือเคยทำงานกับคุณมาก่อน ให้กับองค์กรที่คุณกำลังจะสมัครงานด้วย เพื่อให้ทางองค์กรมั่นใจได้ว่าคุณเคยทำงานและมีผลงานต่างๆ มาจริง โดยหลายๆ องค์กรมักจะติดต่อไปหาบุคคลอ้างอิงที่คุณให้ไว้จริงๆ เพื่อยืนยันข้อมูลที่คุณเขียนใน CV

แต่ที่จริงแล้ว การเขียนการอ้างอิงใน CV นั้น ไม่ใช่เรื่องที่แพร่หลายในไทยแต่อย่างใด เพราะหากมองย้อนกลับไปแล้ว วัฒนธรรมการอ้างอิงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้บุคคลหรือข้อมูลนั้น เป็นวัฒนธรรมที่ไทยรับมาจากโลกตะวันตกอีกทอดหนึ่ง

เพราะฉะนั้น บริษัทต่างๆ ในไทยมักจะไม่ขอให้คุณใส่บุคคลอ้างอิงใน CV มากนัก หากคุณลองดูประกาศหางานใน JobsDB แล้ว คุณก็จะเห็นได้ว่าแทบไม่มีบริษัทไทยบริษัทไหนขอให้คุณเขียนถึงบุคคลอ้างอิงเลย

แต่ในกรณีที่คุณต้องใช้การอ้างอิงใน CV ขึ้นมา คุณก็ควรรู้วิธีการเขียนไว้ก่อน โดยในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับ Reference หรือการอ้างอิงใน CV ในหัวข้อต่อไปนี้

  • คุณควรใส่ข้อมูลอ้างอิงใน CV หรือไม่?
  • ประเภทของการอ้างอิงใน CV
  • วิธีเขียนบุคคลอ้างอิงใน CV
  • คุณควรใส่บุคคลอ้างอิงใน CV มากแค่ไหน
  • คุณจะหาบุคคลอ้างอิงได้จากไหน?

เพราะฉะนั้น เราไปเริ่มกันที่หัวข้อแรกกันเลย

คุณควรใส่ข้อมูลอ้างอิงใน CV หรือไม่?

หากให้ต้องตอบสั้นๆ เราก็จะตอบว่า “ไม่ควร นอกจากบริษัทจะขอ”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณก็ควรดูด้วยว่าบริษัทที่คุณจะสมัครงานด้วยนั้นมีสัญชาติอะไร

  • หากบริษัทนั้นมีสัญชาติตะวันตก คุณก็อาจจะใส่ข้อมูลอ้างอิงใน CV โดยที่ทางบริษัทไม่จำเป็นต้องขอ เพราะอย่างที่บอกในตอนต้น วัฒนธรรมการอ้างอิงนั้น ไม่ใช่วัฒนธรรมของไทยตั้งแต่แรก แต่เป็นวัฒนธรรมที่ฝรั่งนำเข้ามา
  • แต่ถ้าบริษัทนั้นมีสัญชาติไทย คุณก็ควรข้ามการอ้างอิงไป เพราะน้อยครั้งมากที่ทางบริษัทไทยจะติดต่อไปหาบุคคลอ้างอิงที่คุณให้ไว้จริงๆ โดยที่ไม่ได้ขอ ดีไม่ดี อาจจะอ่านข้ามส่วนนี้ใน CV ไปเลยก็ได้

เพราะฉะนั้น ให้คุณดูสัญชาติบริษัทให้ดีก่อน จากนั้นก็ดูว่าบริษัทต้องการข้อมูลอ้างอิงใน CV หรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจเขียน

📌คำแนะนำ: ถ้างานที่คุณจะสมัครเป็นงานสายวิชาการ คุณควรจะมีการอ้างอิงใน CV อย่างยิ่ง เพราะงานสายนี้ต้องการบุคลากรคุณภาพที่ผ่านการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นมาแล้วเป็นอย่างมาก ฉะนั้นคุณควรมีคนที่จะยืนยันได้ว่าคุณเป็นผู้มีความสามารถจริง

แต่อย่างไรก็ตาม การให้ข้อมูลบุคคลอ้างอิงใน CV ก็มีข้อดีข้อเสียอยู่เหมือนกัน ซึ่งเราสามารถสรุปคร่าวๆ ได้ ดังนี้

ข้อดีการอ้างอิงใน CV

  • เพิ่มความน่าเชื่อถือ: หากคุณผ่านประสบการณ์ทำงานมาโชกโชน และมีผลงานความสำเร็จเป็นจำนวนมาก การมีบุคคลอ้างอิงใน CV จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความเป็นมืออาชีพให้คุณมากขึ้นไปอีก ยิ่งถ้าทางบริษัทติดต่อบุคคลอ้างอิงของคุณไปจริงๆ แล้วพบว่าให้ข้อมูลตรงกับที่คุณเขียนไว้ โอกาสในการได้งานของคุณจะพุ่งขึ้นสูงมาก
  • ทำให้บริษัทรู้ว่าคุณมีคอนเนกชันที่ดี: ถ้าคุณบังเอิญรู้จักกับบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงงานของคุณ และสามารถนำชื่อของคนคนนั้นมาใส่ใน CV ของคุณได้ ทางบริษัทก็อาจจะพิจารณาคุณเป็นกรณีพิเศษ เพราะนอกจากจะได้บุคลากรคุณภาพอย่างคุณมาแล้ว ยังอาจได้สานสัมพันธ์อันดีกับบุคคลอ้างอิงของคุณด้วย
  • ทำให้บริษัทรู้ว่าคุณเป็นคนที่โดดเด่นอยู่แล้ว: ที่จริงแล้ว การจะได้ชื่อและข้อมูลติดต่อบุคคลอ้างอิงแต่ละคนมาก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ คุณต้องมีความสามารถมากพอที่จะทำให้บุคคลต่างๆ ยอมออกหน้าเพื่อรับรองความสามารถของคุณจริงๆ เพราะฉะนั้น แค่คุณมีบุคคลอ้างอิงใน CV ทางบริษัทก็พอจะเดาได้ระดับหนึ่งว่าคนเป็นคนมีความสามารถจริง

ข้อเสียการอ้างอิงใน CV

  • ปัญหาความเป็นส่วนตัว: อย่างที่ได้บอกไปแล้ว คุณต้องใส่ทั้งชื่อและข้อมูลติดต่อของบุคคลอ้างอิงของคุณทุกคนสำหรับการติดต่อกลับ แต่หากคิดดูดีๆ แล้ว นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอ้างอิงของคุณจะถูกเปิดเผยได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ก็จะมีคนไทยหลายคนที่ไม่เต็มใจให้ข้อมูลต่างๆ กับคุณเพื่อใช้ในการอ้างอิง
  • CV จะยาวเกินไป: หากคุณเคยเขียน CV หรือเคยเห็นตัวอย่าง CV อาชีพต่างๆ ของเรามาแล้ว คุณจะรู้ดีว่าแค่ข้อมูลสำคัญอย่างอื่นก็กินเนื้อที่ของคุณมากพอแล้ว หากจะต้องใส่ข้อมูลอ้างอิงลงไปอีก ก็อาจทำให้ CV ของคุณยาวถึง 3 หรือ 4 หน้าได้ และผู้พิจารณา CV ส่วนมาก ก็ไม่ได้มีเวลามานั่งอ่านเอกสารที่ยาวขนาดนั้นเช่นกัน
  • เป็นภาระของทั้งสองฝ่าย: ทั้งผู้พิจารณา CV และบุคคลอ้างอิงของคุณต่างเป็นคนที่มีงานรัดตัวทั้งนั้น เพราะฉะนั้น การที่ทั้งสองฝ่ายจะมาคุยโทรศัพท์กันเรื่องคุณเป็นระยะเวลานานนั้นจึงอาจไม่เหมาะสมเท่าไหร่ อีกอย่างคือ ผู้พิจารณา CV จะต้องอ่านใบสมัครจำนวนมาก หากจะให้ติดต่อบุคคลอ้างอิงของทุกคนจริงๆ จะต้องใช้เวลามหาศาล

ประเภทของการอ้างอิงใน CV

หลักๆ แล้ว การเขียนอ้างอิงใน CV มี 2 ประเภท คือ การอ้างอิงอาชีพ และการอ้างอิงการศึกษา โดยการอ้างอิงทั้ง 2 แบบ ก็จะมีเป้าหมายในการเขียนแตกต่างกันไปโดย…

  • การอ้างอิงอาชีพ: จะเขียนเพื่อยืนยันว่าประสบการณ์การทำงานต่างๆ ที่คุณเคยทำ และเขียนไว้ใน CV เป็นความจริง โดยการอ้างอิงประเภทนี้จะเป็นที่นิยมมากกว่าในสายงานทั่วไป พนักงานออฟฟิศ หรือเลขานุการ หรือแม้กระทั่งวิศวกร
  • การอ้างอิงการศึกษา: จะเขียนเพื่อยืนยันว่าคุณมีประวัติการศึกษาหรือผลงานทางวิชาการตามที่เขียนไว้ใน CV จริงๆ โดยการอ้างอิงประเภทนี้จะเป็นที่นิยมสำหรับทั้งการศึกษาต่อ และการสมัครงานสายวิชาการหรือสายที่มีความเฉพาะทางสูงมาก เช่น นักวิจัย แพทย์ และวิศวกรบางสาย
📌คำแนะนำ: หากคุณจะเขียนอ้างอิงสำหรับ CV แล้ว คุณควรดูด้วยว่าตัวเองกำลังสมัครงานแบบไหน และทางบริษัทอยากเห็นบุคคลอ้างอิงลักษณะใดมากกว่ากัน โดยชื่อตำแหน่งงานก็มักจะบอกอยู่แล้วว่าคุณควรเขียนการอ้างอิงประเภทไหนกันแน่

วิธีเขียนบุคคลอ้างอิงใน CV

หากคุณตัดสินใจแล้วว่าจะใส่การอ้างอิงลงใน CV ของคุณจริงๆ อย่างน้อยคุณก็ควรจะรู้วิธีการเขียน ลำดับ และการจัดรูปแบบที่สากลยอมรับ

โดยข้อมูลอ้างอิงของคุณควรประกอบด้วยข้อมูลตามลำดับต่อไปนี้

  • ชื่อนามสกุล
  • ตำแหน่ง และสถานที่ทำงาน
  • อีเมล
  • เบอร์ติดต่อที่ทำงาน หรือเบอร์ส่วนตัว
  • ข้อความสั้นๆ ที่อธิบายความเกี่ยวข้องของบุคคลนั้นๆ กับคุณ
📌คำแนะนำ: คุณควรเขียนข้อมูลการอ้างอิงต่างๆ ให้สั้นและกระชับที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากคุณต้องใส่บุคคลอ้างอิงหลายคน อาจทำให้คุณมีเนื้อที่ไม่พอในการเขียน

ตัวอย่างการอ้างอิงที่ถูกต้อง

ถูกต้อง
สุเมธ เบญวาที
ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทวราทรเทรด
sbenwatee@gmail.com
02-297-866 ต่อ 5
ทำงานเป็นเลขาณุการให้คุณสุเมธ โดยมีหน้าที่หลักคือจัดตารางงาน จัดเตรียมและสรุปผลการประชุมต่างๆ และงานเอกสารประจำวันอื่นๆ

ตัวอย่างการอ้างอิงที่ผิด

ผิด
ชื่อ: นายสุเมธ
นามสกุล: เบญวาที
ตำแหน่ง: ผู้จัดการฝ่ายการตลาด
สถานที่ทำงาน: บริษัทวราทรเทรด
ที่อยู่: ห้อง 503 LKN residence
ซอยพญานาค ถนนเพชรบุรี
ราชเทวี กรุงเทพ, 10400
อีเมล: sbenwatee@gmail.com
เบอร์ติดต่อ: 02-297-866 ต่อ 5
ทำงานเป็นเลขานุการให้คุณสุเมธ โดยมีหน้าที่หลักคือจัดตารางงาน จัดเตรียมและสรุปผลการประชุมต่างๆ และงานเอกสารประจำวันอื่นๆ รวมถึงรับสายโทรศัพท์เพื่อจัดตารางนัดทั้งส่วนตัวและธุรกิจให้ด้วย มีบางครั้งที่ต้องขับรถให้ด้วยเช่นกัน
⚠️คำเตือน: คุณไม่ควรใส่ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอ้างอิงมากเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้ CV ของคุณยาวขึ้นแล้ว ยังอาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วย เพราะฉะนั้น ใส่เฉพาะข้อมูลติดต่อที่จำเป็นเท่านั้น ที่สำคัญ คุณต้องจัดรูปแบบให้สั้นและกระชับด้วย

เขียนอ้างอิงใน CV ตรงไหน

โดยทั่วไป คุณสามารถใส่บุคคลอ้างอิงไว้ในส่วนเพิ่มเติมอื่นๆ ของ CV ได้ แต่บางครั้ง คุณก็จะพบปัญหาเนื้อที่ได้เช่นกัน

วิธีหนึ่งที่คุณสามารถจัดการกับความยุ่งยากเรื่องเนื้อที่ CV ของคุณได้ ก็คือการแยกหน้าการอ้างอิงออกมาเลย ซึ่งวิธีนี้จะจัดการกับการมีที่ไม่พอได้ดีมาก โดยเฉพาะเวลาต้องเขียนบุคคลอ้างอิงหลายคน

แต่หากคุณจะใช้วิธีนี้ คุณก็จำเป็นที่จะต้องมีหัวเรื่องแยกที่ดีด้วย โดยหัวเรื่องที่ดีควรมีข้อมูลและลำดับดังต่อไปนี้

  • ชื่อนามสกุลของคุณ
  • ตำแหน่งงานที่คุณจะสมัคร
  • อีเมลของคุณ
  • เบอร์ติดต่อ
  • แอ็กเคานต์ Linkedin (ไม่จำเป็น)

คุณสามารถเพิ่มความโดดเด่นให้กับหัวเรื่องได้โดยการเขียนชื่อตัวเองฟอนต์หนา หรือใหญ่กว่าตัวอื่น และหลังจากที่เขียนหัวเรื่องแล้ว ก็ลิสต์บุคคลอ้างอิงแต่ละคนแบบเดียวกับในหัวข้อที่แล้ว ตัวอย่างเช่น

อาทร เดชปรีชา
เลขานุการผู้จัดการฝ่ายการตลาด
adetchpreecha@gmail.com
0625-914-8655

บุคคลอ้างอิง
สุเมธ เบญวาที
ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทวราทรเทรด
sbenwatee@gmail.com
02-297-866 ต่อ 5
ทำงานเป็นเลขานุการให้คุณสุเมธ โดยมีหน้าที่หลักคือจัดตารางงาน จัดเตรียมและสรุปผลการประชุมต่างๆ และงานเอกสารประจำวันอื่นๆ

วีระวงศ์ คงสมพร
ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทอำนวยอิเล็กทรอนิกส์
wkongsomphorn@gmail.com
02-268-497 ต่อ 4
ทำงานเป็นเลขานุการให้คุณวีระวงศ์ โดยมีหน้าที่หลักคือจัดตารางงาน จัดเตรียมและสรุปผลการประชุมต่างๆ

เพ็ญประภา นาคสมัย
พนักงานฝ่ายการตลาด บริษัทอำนวยอิเล็กทรอนิกส์
pnaksamai@gmail.com
02-268-497 ต่อ 2
ร่วมปฏิบัติงานกับเพ็ญประภาในส่วนของการวางแผนแคมเปญสินค้า และโฆษณาต่างๆ ของบริษัท

คุณควรใส่บุคคลอ้างอิงใน CV จำนวนเท่าไหร่

หากทางบริษัทที่คุณจะสมัครงานด้วยได้กำหนดมาแล้วว่าให้คุณใส่บุคคลอ้างอิงใน CV จำนวนเท่าไหร่ ก็ให้คุณใส่ไปเท่านั้น และไม่ควรใส่ขาดหรือเกินเด็ดขาด เพราะนั่นจะทำให้คุณดูเป็นคนตอบไม่ตรงคำถาม หรือขาดความเข้าใจพื้นฐานในการตอบคำถามที่ดีได้

และในกรณีนี้ คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องมาขึ้นหน้าใหม่สำหรับเขียนการอ้างอิงด้วย เพราะหลายๆ ครั้ง ทางบริษัทจะมีแบบฟอร์มสำหรับการเขียนอ้างอิงแนบมากับประกาศรับสมัครงานอยู่แล้ว ดังนั้น คุณสามารถใช้ฟอร์มนั้นได้เลย

แต่หากบริษัทไม่มีแบบฟอร์มมาให้ คุณก็สามารถใช้รูปแบบที่เราแนะนำไว้ด้านบน หรือจะดูจาก PDF เทมเพลต CV ของเราที่มาพร้อมกับฟอร์มการเขียนการอ้างอิงหรือ Reference อยู่แล้วได้

ส่วนในกรณีที่บริษัทไม่ได้ขอให้คุณใส่บุคคลอ้างอิง คุณก็ไม่จำเป็นต้องเขียนส่วนนี้เลย

แต่ถ้าคุณเห็นว่าควรเขียนจริงๆ ก็ให้เขียนไป 1 คน หรือมากที่สุด 3 คนที่สำคัญและสร้างความโดดเด่นให้คุณจริงๆ เท่านั้น ไม่ควรเขียนมากเกินกว่านี้ และหากเป็นไปได้ ก็ไม่ควรเขียนแบบขึ้นหน้าใหม่ด้วย โดยให้คุณเขียนการอ้างอิงไว้ร่วมกับส่วนเพิ่มเติมอื่นๆ ของ CV หรือจะดาวน์โหลดเทมเพลต CV ของเรามาใช้ก็ได้

คุณจะหาบุคคลอ้างอิงได้จากไหน?

เนื่องจากบุคคลอ้างอิงจะต้องยืนยันความสามารถต่างๆ ของคุณได้ คุณควรใส่คนที่เคยทำงานร่วมกับคุณมาก่อน หรือเคยเป็นหัวหน้าคุณในอดีตลงไป

บุคคลเหล่านี้ จะมีความเข้าใจทักษะและวิธีการทำงานต่างๆ ของคุณเป็นอย่างดี เพราะเคยมีประสบการณ์การทำงานร่วมกันมาก่อน เวลาที่ผู้พิจารณา CV ติดต่อมา คนเหล่านี้ก็จะสามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจน และตรงกับที่คุณเขียนไว้ใน CV โดยไม่ต้องนัดแนะ (ที่จริงไม่ควรนัดแนะอยู่แล้ว)

แต่หากงานที่คุณจะสมัครเป็นงานสายวิชาการ ให้คุณใส่ชื่ออาจารย์มหาวิทยาลัยที่คุณเคยเรียนหรือเคยร่วมงานด้วยลงไป ส่วนใหญ่ อาจารย์มหาวิทยาลัยของคุณจะมีชื่อเสียงในวงการวิชาการนั้นๆ อยู่แล้ว หากคุณมีบุคคลอ้างอิงเป็นอาจารย์ คุณก็จะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

⚠️คำเตือน: สิ่งที่คุณห้ามลืมเด็ดขาดก่อนจะเขียนการอ้างอิงคือคุณต้องขออนุญาตใช้ชื่อและข้อมูลติดต่อของบุคคลนั้นๆ ด้วย เพราะหากคุณไม่ขออนุญาตแล้ว อาจนับเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วยการเปิดเผยข้อมูลโดยมิชอบได้

หากไม่มีประสบการณ์การทำงาน

ในกรณีนี้ ให้คุณใส่อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือครูในโรงเรียนที่เคยสอนคุณมา (เหมือนในกรณีสมัครงานสายวิชาการ) เพราะบุคคลเหล่านี้จะมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับบุคลิกและความสามารถของคุณระดับหนึ่ง

คุณไม่ควรใส่ชื่อญาติหรือเพื่อนสนิทลงไป เพราะนั่นจะทำให้ความเป็นมืออาชีพของคุณลดลง

สรุปการเขียนบุคคลอ้างอิงใน CV

โดยร่วมแล้ว คุณควรจัดการกับการเขียนอ้างอิงใน CV ดังนี้

  • พิจารณาดีๆ ว่าควรเขียนอ้างอิงหรือไม่ โดยดูจากประกาศรับสมัครงาน สัญชาติบริษัท และลักษณะงานที่สมัคร
  • หากต้องเขียนการอ้างอิง ให้พิจารณาด้วยว่าควรเขียนอ้างอิงอาชีพ หรืออ้างอิงวิชาการ โดยตัดสินจากลักษณะตำแหน่งที่จะสมัคร จากนั้นให้ดูด้วยว่าจะใส่บุคคลอ้างอิงกี่คน และจำเป็นต้องขึ้นหน้าใหม่หรือไม่
  • ข้อมูลของบุคคลอ้างอิงควรประกอบด้วยชื่อนามสกุล ตำแหน่งและสถานที่ทำงาน อีเมล เบอร์ติดต่อที่ทำงานหรือเบอร์ส่วนตัว และข้อความสั้นๆ ที่อธิบายความเกี่ยวข้องของบุคคลนั้นๆ กับคุณเท่านั้น
  • หากต้องขึ้นหน้าใหม่ อย่าลืมเขียนหัวเรื่องใหม่ด้วย โดยยังมีรูปแบบการเขียนข้อมูลบุคคลอ้างอิงเหมือนเดิม
  • หัวหน้างานเก่าและเพื่อนร่วมงานในอดีตมักจะเป็นบุคคลอ้างอิงให้คุณได้ดีที่สุด แต่หากคุณไม่มีประสบการณ์การทำงาน ให้ใส่ข้อมูลของอาจารย์หรือครูที่เคยสอนคุณมา
  • ห้ามลืมขออนุญาตใช้ข้อมูลจากบุคคลอ้างอิงเด็ดขาด มิฉะนั้นคุณอาจล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยไม่ตั้งใจได้

หากมาถึงตรงนี้แล้วคุณยังไม่แน่ใจว่าจะเขียนการอ้างอิงใน CV อย่างไร เราแนะนำให้คุณเข้าไปดาวน์โหลด PDF เทมเพลต CV ของเราที่มาพร้อมกับรูปแบบการเขียนอ้างอิงทั้งแบบแยกหน้า และแบบไม่แยกหน้าด้วย แต่ถ้าคุณต้องการเพียงแค่ตัวอย่างประกอบการเขียน เราก็มีตัวอย่าง CV สำหรับอาชีพต่างๆ ให้คุณได้นำมาใช้เช่นกัน

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสมัครงานครั้งต่อไปของคุณจะผ่านไปได้ด้วยดี ขอให้ทุกคนได้สนุกกับชีวิตการทำงานในอาชีพที่เลือกเองนะ

Similar Articles

 

No Results Found

The page you requested could not be found. Try refining your search, or use the navigation above to locate the post.